10 สัญญาเช่าคอนโด ที่ผู้เช่าควรรู้ก่อนเข้าอยู่ | Living Insure
บทความ

10 สัญญาเช่าคอนโด ที่ผู้เช่าควรรู้ก่อนเข้าอยู่

article-cover

พอเห็นตัวหนังสือเรียงกันเป็นตับ เราเลยมักมองข้ามรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ต้องทำสัญญา จะอ่านขาดไม่ได้แม้แต่ตัวอักษรเดียว โดยเฉพาะเมื่อคิดเช่าคอนโดอยู่ ผู้เช่าควรอ่านให้ครบตั้งแต่ต้นจนถึงบรรทัดสุดท้ายเพื่อความผิดไม่พลาด ฉะนั้นมาเตรียมพร้อมกันหน่อยดีกว่า ว่าสัญญาเช่าคอนโดมีอะไรบ้าง ก่อนเซ็นสัญญาจริง!

 

เรื่องค่าใช้จ่ายทั้งหลายที่เกี่ยวกับการเช่า ได้รวมไว้ที่บทความนี้แล้ว สามารถคลิกอ่านได้ที่นี่>>> รวมค่าใช้จ่ายก่อนเช่าคอนโด

 

เรามีสัญญา เช่าบ้าน เช่าคอนโด ขายดาวน์คอนโด ขายบ้าน ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รวมถึงสัญญาซื้อขาย ที่ทำไว้ค่อนข้างละเอียดและรัดกุม เรายินดีส่งให้ทุกท่านฟรีโดยไม่มีค่าบริการ หากท่านต้องการสัญญาเช่า

 

เพียงท่าน แอด Line ID : @Livinginsider (มี @ นำหน้าด้วยนะครับ) หรือหากใช้มือถือก็สามารถคลิกที่ลิ้งค์เข้าไลน์แอดได้เลย ลิงค์นี้ครับ >> https://lin.ee/CkHtdTr <<

 

ระบบจะส่งสัญญาให้ท่านโดยอัตโนมัติทันที

ใช้ไลน์สแกน QR เพื่อแอดไลน์ขอสัญญา

1. ระเบียบในการอยู่อาศัยทั้งห้องและส่วนกลางคอนโด

สำคัญมากเรื่องนี้ โดยทางเจ้าของห้องจะอธิบายเป็นข้อๆ ถึงกฎระเบียบของการอาศัยอยู่ห้องรวมไปถึงการใช้ส่วนกลางของคอนโด ยกตัวอย่าง ห้ามสูบบุหรี่ ห้ามเลี้ยงสัตว์ (เว้นแต่โครงการและเจ้าของห้องกำหนดให้เลี้ยงได้) ห้ามวางกระถางต้นไม้บนระเบียง ห้ามส่งเสียงดังรบกวนเพื่อนข้างห้อง ห้ามนำผู้อื่นมาใช้ส่วนกลาง เป็นต้น ซึ่งไม่แนะนำให้ผู้เช่าอ่านข้าม

cat lying down in bed

 

2. ระบุทรัพย์สินทั้งหมด

ตอนดูห้องครั้งแรก ให้ดูเลยว่าเฟอร์นิเจอร์มีอะไรบ้าง ตู้ โต๊ะ เตียง พรม ของตกแต่งต่างๆ พร้อมสังเกตด้วยว่ามีอันไหนที่ชำรุดหรือมีรอยขีดข่วนตรงไหนบ้าง และแจ้งเจ้าของห้อง ณ ตอนนั้นเลย ซึ่งส่วนใหญ่ เจ้าของห้องจะถ่ายรูปเฟอร์นิเจอร์แต่ละชิ้นเก็บไว้ให้ตอนเซ็นสัญญา เราอาจจะเขียนกำกับต่อหน้าเจ้าของห้อง ว่าเฟอร์นิเจอร์ชิ้นไหนเป็นยังไงบ้างเพื่อเป็นการย้ำเตือนอีกที

man in blue t-shirt sitting on floor

 

3. กฎการเปลี่ยนแปลงห้อง

เกือบ 100% ที่เจ้าของห้องไม่อนุญาตให้ต่อเติม ไม่ว่าจะเป็นเจาะผนัง ติดกำแพง ทาสี หรือดัดแปลงใดๆ ทั้งสิ้น แต่เรื่องนี้สามารถพูดคุยกันได้ ถ้าอยากทำจริงๆ จะต้องขออนุญาตก่อนซึ่งจะต้องเป็นลายลักษณ์อักษรยืนยัน ว่าเจ้าของห้องได้อนุญาตเรียบร้อยแล้ว และถ้าต้องการเพิ่มกุญแจล็อกประตู จะต้องมีกุญแจให้กับเจ้าของห้องด้วย และตอนย้ายออกไม่สามารถถอดออกได้ต้องยกให้เจ้าของห้องไปเลย

People renovating the house

ขอบคุณภาพ : rawpixel

 

4. บำรุงซ่อมแซม

ขึ้นอยู่กับการพูดคุยว่าใครต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย เมื่อมีเครื่องใช้ไฟฟ้าหรือวัสดุอุปกรณ์ชำรุดเสียหาย ซึ่งถ้าเกิดจากผู้เช่าแน่นอนว่าก็ต้องจ่ายเอง แต่ถ้าเป็นการเสื่อมสภาพโดยอายุการใช้งาน หรือถึงเวลาที่ต้องบำรุงรักษาอย่างการล้างแอร์ เจ้าของห้องต้องเป็นผู้รับผิดชอบ โดยจะโอนเงินมาให้ผู้เช่า หรือให้ผู้เช่าออกก่อนและค่อยหักจากค่าเช่าเดือนหน้าก็แล้วแต่การตกลง

Woman fixing kitchen sink

ขอบคุณภาพ : rawpixel

 

5. เจ้าของห้องมีสิทธิ์เข้าไปในห้องได้

สาเหตุหลักๆ ที่เจ้าของห้องมักจะขอเข้าห้องตอนผู้เช่ายังเช่าอยู่นั้นมีไม่กี่ข้อ หนึ่งคือเพื่อเข้ามาตรวจเช็กว่ามีเฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดไหน ที่ถึงเวลาต้องบำรุงรักษาโดยอาจจะพาช่างเข้ามาด้วย อีกกรณีหนึ่งคือพาผู้เช่าห้องคนต่อไปมาดูห้องนั่นเอง แต่ว่าก็ต้องแจ้งผู้เช่าห้องก่อนล่วงหน้าสัก 2-3 วัน ไม่สามารถเข้าไปได้ทันทีโดยไม่ได้รับอนุญาต

Person Holding on Door Lever Inside Room

 

6. เช่าช่วงให้คนอื่นอยู่ต่อ

ตามหัวข้อเลย การเช่าช่วง คือการที่ผู้เช่าอยู่ไม่ครบกำหนดแต่ก็ไม่อยากเสียค่ามัดจำ จึงหาผู้เช่ารายอื่นมาอยู่ต่อแทนตัวเอง บอกเลยว่าโอกาสน้อยมากที่เจ้าของห้องจะยินยอม เพราะยุ่งยากและอาจเกิดปัญหาตามมา จึงได้มีการกำหนดลงชื่อว่าใครบ้างที่อาศัยอยู่ในห้องนั้น แต่ถ้าเจ้าของห้องอนุญาตก็สามารถทำได้ 

Person Giving Keys on Man

 

7. เมื่อจ่ายค่าเช่าล่าช้า

เจ้าของห้องคงไม่ได้ใจร้ายหากจ่ายช้าเกินกว่ากำหนดเพียง 2-3 วัน แค่ต้องแจ้งเจ้าของห้องล่วงหน้าก่อนทุกครั้ง (แต่จ่ายช้าทุกเดือนก็ไม่ได้นะ) หรือถ้านานกว่านั้น ก็อาจมีค่าปรับเท่าไหร่ก็ว่ากันไป ซึ่งเค้าจะมีกำหนดว่าไม่ควรจ่ายช้าเกิน 15 วัน ถ้าช้ากว่านั้นและติดต่อผู้เช่าไม่ได้อาจถูกไล่ออกจากห้อง โดยเจ้าของสามารถเข้าไปในห้องได้โดยไม่ต้องขออนุญาต และทรัพย์สินที่อยู่ภายในนั้นจะเป็นของเจ้าของทันที หรือจะเอาไปจัดเก็บไว้ที่อื่นเพื่อรอให้ผู้เช่าติดต่อกลับมาและเป็นผู้ชำระค่าขนย้าย

Silver and Gold Coins

 

8. ยกเลิกสัญญาเช่าก่อนกำหนด

อย่างที่เรารู้กันว่าคอนโดให้เช่าส่วนมาก สัญญาขั้นต่ำจะอยู่ที่ 1 ปี ซึ่งหากผู้เช่าอยากยกเลิกก่อนกำหนด ต้องแจ้งเจ้าของห้องให้ทราบล่วงหน้า ซึ่งทำใจไว้ได้เลยว่าค่าประกันอาจได้คืนไม่ครบหรือไม่ได้เลย ต้องดูในสัญญาให้ดี หรือถ้าคุยกันมีเหตุผลดีๆ เจ้าของก็อาจอนุโลมคืนเงินให้มากน้อยแล้วแต่เจ้าของห้อง 

 

9. ค่าทำความสะอาด

ถ้าเจ้าของห้องไม่ได้กำหนด ว่าต้องจ้างบริษัททำความสะอาดเท่านั้น เราสามารถทำความสะอาดเคลียร์ของตัวเองออกให้เรียบร้อย โดยให้ห้องอยู่ในสภาพเดิมเหมือนก่อนย้ายเข้า แต่ถ้ากำหนดว่าต้องจ้างแม่บ้านทำให้เท่านั้น ต้องระบุเลยว่าจ้างบริษัทไหนและเป็นจำนวนเงินกี่บาท

 

10. อยู่เกิน 1 ปี ลดค่าเช่าได้ไหม?

สุดท้ายเมื่ออยู่ครบ 1 ปี และอยากทำสัญญาเช่าต่อ ถามว่าขอส่วนลดได้ไหม ตอบเลยว่าจะได้ก็ต่อเมื่อ ผู้เช่าปฏิบัติตัวดีไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจ่ายค่าเช่าตรงเวลา ดูแลของภายในห้องเป็นอย่างดี ไม่มีปัญหากับเพื่อนบ้านหรือนิติบุคคล เชื่อว่าเจ้าของห้องจะลดค่าเช่าให้ได้ไม่ยาก เผลอๆ ไม่ต้องเอ่ยปากขอ เจ้าของห้องก็บอกเองเลยว่าเดี๋ยวลดให้ 

 

เพราะไม่อยากให้เกิดปัญหากัน ดังนั้นตอนนัดเซ็นสัญญาจึงต้องอ่านให้ละเอียด ติดขัดสงสัยตรงไหนให้รีบทวงถามทันที ที่สำคัญอย่าตกลงอะไรก็ตามแค่เพียงลมปาก ทุกอย่างต้องเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อเป็นเครื่องยืนยันให้แก่ตัวผู้เช่าเองและเจ้าของห้อง